สำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดอุตรดิตถ์แห่ง ที่ ๓ วัดคุ้งตะเภา

วัดคุ้งตะเภา เป็นวัดโบราณในเขตการปกครองของคณะสงฆ์มหานิกาย และเป็น 1 ใน 9 วัดศักดิ์สิทธิ์สำคัญของจังหวัดอุตรดิตถ์ ตั้งอยู่ที่หมู่บ้านคุ้งตะเภา ตำบลคุ้งตะเภา อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ ใกล้กับจุดตัดสี่แยกคุ้งตะเภา  เป็นวัดประจำตำบลคุ้งตะเภา
     เป็นวัดโบราณมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา และได้รับสถาปนาขึ้นใหม่ในสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี เมื่อปี 2313 เป็นวัดแห่งเดียวในปริมณฑลเมืองพิชัยและสวางคบุรี ที่ปรากฏหลักฐานการสถาปนาวัดในปีนั้น ตำนานเล่าสืบกันมาว่า พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายคนกลับมาตั้งครัวเรือน สร้างวัดและศาลาการเปรียญขึ้นใหม่ ณ ริมคุ้งสำเภา พร้อมทั้งตรัสเรียกชื่อวัดที่ตั้งขึ้นใหม่นี้ว่า "วัดคุ้งตะเภา" ปัจจุบันทางราชการได้นำชื่อคุ้งตะเภาไปใช้ตั้งเป็นชื่อหมู่บ้านและชื่อตำบลคุ้งตะเภาสืบมาจนปัจจุบัน
     วัดเคยเป็นที่สถิตของพระครูสวางคมุนี เจ้าคณะใหญ่เมืองฝางมาตั้งแต่โบราณ อีกทั้งเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ และพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ของจังหวัดอุตรดิตถ์ พระพุทธสุวรรณเภตรา และ พระพุทธสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนี ปัจจุบันวัดคุ้งตะเภาเป็นวัดพัฒนาตัวอย่างที่มีผลงานดีเด่น เป็นสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดอุตรดิตถ์ แห่งที่ 3 (สำนักปฏิบัติธรรมภายใต้การกำกับของมหาเถรสมาคม) และเป็นวัดประจำตำบลที่มีสถิติพระภิกษุสามเณรจำพรรษามากที่สุดในตำบลคุ้งตะเภา เป็นศูนย์กลางทางด้านศาสนศึกษาในคณะสงฆ์ตำบลคุ้งตะเภา และมีอายุเก่าแก่ที่สุดในเขตปกครองคณะสงฆ์ตำบลคุ้งตะเภา เป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่มูลนิธิ ๒๕๐ ปี วัดคุ้งตะเภา ศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ สำนักศาสนศึกษาประจำตำบล และหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบลคุ้งตะเภา (อปต.) ซึ่งเป็นหน่วยอบรมฯ ที่มีผลงานดีเด่นระดับจังหวัดอุตรดิตถ์ โดยมี พระสมุห์สมชาย จีรปุญฺโญ (แสงสิน) เป็นเจ้าอาวาสวัดคุ้งตะเภา (จร.)

การตั้งวัด
     วัดคุ้งตะเภาเป็นวัดโบราณ ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าเริ่มสร้างมาแต่สมัยใด จากหลักฐานทางโบราณคดีที่พบในบริเวณวัด เช่น เศษกระเบื้องหลังคาตะขอดินเผาแกร่งแบบไม่เคลือบ เศษภาชนะกระเบื้องเคลือบสมัยราชวงศ์ชิง และเศษอิฐโบราณอายุราวพุทธศตวรรษที่ 22–23 ในบริเวณวัด สันนิษฐานว่าพื้นที่ตั้งวัดคุ้งตะเภาน่าจะเริ่มมีพระภิกษุจำพรรษามาตั้งแต่สมัยอาณาจักรอยุธยา ในชั้นเอกสารมีเพียงหลักฐานสืบค้นชั้นเก่าสุดระบุว่าได้รับอนุญาตให้ตั้งวัดในสมัยธนบุรี พ.ศ. 2313 อันเป็นปีที่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จขึ้นมาปราบชุมนุมเจ้าพระฝาง ณ เมืองสวางคบุรี พร้อมโปรดเกล้าฯ ให้จัดการการปกครองหัวเมืองฝ่ายเหนือใหม่ ซึ่งในคราวนั้นพระองค์ได้ประทับอยู่จัดการคณะสงฆ์หัวเมืองฝ่ายเหนือ ณ เมืองสวางคบุรี ตลอดฤดูน้ำหลาก ซึ่งวัดคุ้งตะเภาเป็นวัดเพียงแห่งเดียวในแถบย่านเมืองพิชัยและสวางคบุรี ที่ปรากฏหลักฐานการสถาปนาวัดขึ้น เมื่อคราวที่พระองค์ทรงชำระคณะสงฆ์หัวเมืองเหนือใหม่ในปีศักราชนั้น ดังปรากฏหลักฐานในพระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม)
     อย่างไรก็ตามจากหลักฐานตำนานของชื่อหมู่บ้านคุ้งตะเภา ทำให้ทราบว่าวัดคุ้งตะเภามีอายุมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา หากแต่เป็นวัดที่พักสงฆ์ในชุมชนขนาดเล็ก ไม่มีศาสนสถาน จึงอาจตกสำรวจการขึ้นทะเบียนของกรมการเมืองในสมัยอยุธยา หรืออาจเป็นไปได้ว่าหลักฐานได้สูญหายไปเมื่อคราวสงครามเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สองแล้ว ทำให้นามวัดเพิ่งมีในทะเบียนใน พ.ศ. 2313 พระองค์สถาปนาวัดคุ้งตะเภา และสร้างศาลาบอกมูลฯ ขึ้นในคราวเดียวกันเพื่อให้เป็นศูนย์รวมชุมชนและเป็นที่พำนักสั่งสอนของพระสงฆ์ผู้ทรงภูมิธรรมที่ทรงอาราธนานิมนต์มาจากกรุงธนบุรี เนื่องจากความสำคัญยิ่งที่วัดคุ้งตะเภาเป็นวัดในชุมชนคนไทยดั้งเดิม ที่มีที่ตั้งอยู่เหนือสุด ท้ายพระราชอาณาเขตกรุงธนบุรีในสมัยนั้น ตามสภาพที่ตั้งทางภูมิศาสตร์มาแต่โบราณ
     วัดคุ้งตะเภาสร้างติดอยู่ริมแม่น้ำน่านฝั่งตะวันออก เดิมชื่อ "วัดคุ้งสำเภา" (หรือโค้งสำเภา) จากตำนานที่เชื่อกันมาว่าในสมัยก่อนได้เคยมีเรือสำเภาอับปางลงในบริเวณนี้ ตั้งอยู่ในเขตตำบลท่าเสา ขึ้นกับเมืองพิชัย ต่อเมื่อผ่านเวลานานมาในสมัยธนบุรี จากตำนานหมู่บ้านกล่าวว่า สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงเปลี่ยนชื่อเป็น คุ้งตะเภา

สภาพวัดในอดีต
     ปรากฏหลักฐานตามประวัติกรมการศาสนาว่า ในสมัยอาณาจักรธนบุรี วัดคุ้งตะเภามีศาลาการเปรียญอยู่ริมแม่น้ำหลังหนึ่ง ใช้สำหรับบำเพ็ญกุศลสำหรับหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำน่านในย่านนี้ ต่อมาภายหลังแม่น้ำน่านเปลี่ยนทิศทางเดินออกไปไกลจากวัดมากกว่า 1 เส้น จึงเกิดแผ่นดินงอกขึ้นมาหน้าวัดซึ่งเป็นท้องน้ำเดิม ขณะเดียวกันก็มีเกาะเกิดขึ้นหน้าวัดด้วยตรงบริเวณหน้าค่ายพระยาพิชัยดาบหักปัจจุบัน
     ชาวบ้านย่านตำบลนี้อาศัยศาลาวัดคุ้งตะเภาเป็นสถานที่เล่าเรียนมาโดยตลอด มีพระสงฆ์เป็นอาจารย์บอกหนังสือมูลทั้งจินดามณีและมูลบทบรรพกิจรวมไปถึงเลขคณิตต่าง ๆ วัดแห่งนี้มีความเจริญมาโดยลำดับในสมัยรัตนโกสินทร์ จนในสมัยรัชกาลที่ 5 วัดคุ้งตะเภาได้กลายเป็นศูนย์กลางการศึกษาและปกครองของคณะสงฆ์ในแถบนี้ โดยปรากฏหลักฐานว่า ใน พ.ศ. 2431 เจ้าอธิการจัน เจ้าอาวาสวัดในสมัยนั้น ได้รับพระราชทานตาลปัตรพุดตาลทองแผ่ลวด ตั้งสมณศักดิ์ในราชทินนามที่ พระครูสวางคมุนี ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่เมืองฝาง พร้อมได้รับพระราชทานพัดรองโหมด ย่ามสักลาด บาตรถุงสักลาด กาน้ำถ้วยกระโถนถ้วยร่มรองเท้า เป็นเครื่องยศประกอบตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่เมืองฝางอีกด้วย ในปี พ.ศ. 2442 ปรากฏรายงานการศึกษามณฑลพิศณุโลก ได้ระบุว่า วัดคุ้งตะเภา มีพระ 8 รูป ศิษย์วัด 6 คน มีเจ้าอธิการรอดเป็นเจ้าอาวาส และผู้ใหญ่ชื่น เป็นมรรคนายก ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเจริญรุ่งเรืองของวัดคุ้งตะเภาในสมัยนั้นได้เป็นอย่างดี
     จนต่อมาในปี พ.ศ. 2465 มีการจัดการศึกษาใหม่ วัดคุ้งตะเภาจึงมีครูเป็นฆราวาสสอนแทน เรียกว่าโรงเรียนวัดคุ้งตะเภา แต่ยังตั้งอยู่ในศาลาการเปรียญวัดคุ้งตะเภาดุจเดิม โดยแบ่งเป็น 4 ชั้น ตั้งแต่ประถม 1 ถึง 4 ซึ่งโรงเรียนวัดคุ้งตะเภานี้นับเป็นโรงเรียนแห่งแรกของตำบลคุ้งตะเภาและแถบย่านแม่น้ำน่านฝั่งตะวันออก
     ในช่วงหลังมา แม่น้ำน่านในฤดูน้ำหลากได้ขึ้นกัดเซาะตลิ่งวัดพังจนเกือบถึงตัวศาลาการเปรียญ ชาวบ้านเกรงศาลาจะได้รับความเสียหาย จึงปรึกษากันย้ายศาลาการเปรียญเมื่อปี พ.ศ. 2472 อย่างไรก็ดี ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 แม่น้ำน่านได้เปลี่ยนทิศทางจากวัดไปมากแล้ว ทำให้วัดในช่วงหลังตั้งอยู่ไกลจากแม่น้ำ ความในพระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวคราวเสด็จประพาสมณฑลฝ่ายเหนือ ทำให้ทราบว่าในสมัยนั้นหาดหน้าวัดได้งอกจากตลิ่งแม่น้ำเดิมไปมากแล้ว และคงมีสะพานไม้ทอดยาวลงไปหาแม่น้ำน่านมาก่อนหน้านั้น โดยในวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2444 พระองค์ทรงสังเกตว่าวัดคุ้งตะเภาแปลกกว่าวัดอื่นตรงที่มีสะพานไม้ทอดยาวมาหาแม่น้ำน่าน ทรงมีพระบรมราชาธิบายว่า
     ...แลเห็นพุ่มไม้วัดแลบ้านลิบ ๆ แต่ในการที่จะมาต้อนรับนั้น ต้องมาตกแต่งซุ้มแลปรำบนหาดซึ่งไม่มีต้นไม้แต่สักต้นเดียว แดดกำลังร้อนต้องมาจากบ้านไกลเปนหนักเปนหนา วัด (คุ้งตะเภา) ที่ตั้งอยู่บนตลิ่งหลังหาดต้องทำตพานยาวนับด้วยเส้น ลงมาจนถึงหาดที่ริมน้ำ แต่ถ้าน่าแล้งเช่นนี้ ตพานนั้นก็อยู่บนที่แห้ง แลยังซ้ำห่างน้ำประมาณเส้น ๑ หรือ ๑๕ วา ถ้าจะลงเรือยังต้องลุยน้ำลงมาอีก ๑๐ วา ๑๕ วา...
     ด้วยเหตุที่แม่น้ำเปลี่ยนทิศไปไกลจากวัดในภายหลัง ทำให้แม่น้ำน่านหน้าวัดกลายเป็นที่งอก แต่ก็ยังคงสภาพเป็นตลิ่งเก่าที่กลายเป็นตลิ่งลำมาบของแม่น้ำน่านในฤดูฝน มีบุ่งน้ำขังในช่วงหน้าแล้งบ้าง พระสงฆ์และชาวบ้านคุ้งตะเภาในสมัยนั้นจึงสร้างสะพานไม้ยาวต่อจากวัดลงข้ามมาลงบุ่งคุ้งตะเภาและลงไปแม่น้ำน่านเพื่อการสัญจรและอุปโภคบริโภค
     วัดคุ้งตะเภามีพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์จำนวน 2 องค์ และมีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ
     พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ 2 องค์ ได้แก่ พระพุทธสุวรรณเภตรา (หลวงพ่อสุวรรณเภตรา) เป็นหนึ่งในพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์สำคัญ 9 องค์ แห่งอุตรดิตถ์ องค์พระหล่อด้วยโลหะปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 47 นิ้ว สูง 62 นิ้ว (ตลอดถึงพระรัศมี) มีพุทธลักษณะสมัยสุโขทัย สถาปนาโดยพระครูธรรมกิจจาภิบาล อดีตพระครู เกจิในอดีต องค์พระได้อัญเชิญมาประดิษฐานเป็นพระพุทธรูปประธานในอุโบสถวัดคุ้งตะเภา และ พระพุทธสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนี (หลวงพ่อสุโขสัมฤทธิ์) เป็นพุทธลักษณะปางมารวิชัย หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์บริสุทธิ์ หน้าตักกว้างศอกเศษ มีพุทธลักษณะงดงามตามแบบอย่างสกุลช่างสุโขทัย-เชียงแสน เดิมองค์พระถูกพอกปูนลงรักปิดทองอารักขาภัยไว้ ตัวองค์พระสำริดดังปรากฏในปัจจุบันนั้นสันนิษฐานว่าสร้างในสมัยแรกก่อตั้งกรุงสุโขทัยในช่วงพุทธศตวรรษที่ 18


 
 
 
 

Website Policy | Privacy Policy | Security Policy | Disclaimer | ข้อกำหนดการใช้ Cookies รองรับการทำงานบน Internet Explorer v.11+, Microsoft Edge, Firefox v.47.0+, Chrome v.51+

จำนวนการเข้าชม : 1,385,098